ประเด็นร้อน

มิติใหม่ รธน. แก้อดีต - พาชาติสู่อนาคต

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 07,2017

ขณะนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  "ทีมการเมืองเดลินิวส์" ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาชี้จุดเด่นและประชาชนคนไทยจะได้อะไรจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

โดย ศ.ดร.อุดม บอกถึงที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า...เกิดขึ้นมาจากสภาพทางวิกฤติของบ้านเมืองและมีการสั่งสมบทเรียนจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา เพราะฉะนั้นจุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สำคัญ คือ 
1.ยืนยันในจุดที่ดีของรัฐธรรมนูญในอดีต นำจุดแข็งของทั้งรัฐธรรมนูญที่เรียกว่าฉบับประชาชนในปี 2540 ที่มีความคิดของการพยายามรักษาระบบการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรทางการเมืองกับองค์กรอิสระ และรัฐธรรมนูญปี 2550 คือความพยายามที่จะทำให้สิทธิเสรีภาพที่ประชาชนมีอยู่ให้มั่นคงและเป็นจริง และยังรวมถึงว่าทำอย่างไรให้ช่องว่างที่เคยมี ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของฝ่ายการเมืองกับฝ่ายตรวจสอบอำนาจในส่วนฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายประชาชนมีโอกาสที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในเรื่องที่จะไม่ถูกข่มเหง รังแก หรือทำอะไรในทางที่ไม่ถูกต้อง

2.สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจะต้องทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปไม่ใช่วนหรือเวียนอยู่กับที่ หมายความว่า เราจะนำเอาสิ่งที่เป็นปัญหาในอดีตมาแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาที่สั่งสมหรือหมักหมมมาในอดีต เช่น ปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามเน้นในเรื่องของการปราบทุจริต เพราะฉะนั้นกลไกอะไรที่ไม่มีประสิทธิภาพที่จะแก้ปัญหาในการแสวงหาประโยชน์ในทางที่ไม่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ปัญหาของคนที่มีประวัติเสียหายแล้วเข้ามาบริหารประเทศ  เรื่องของการใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เราจะต้องมีวิธีป้องกันไม่ใช่เพียงบังคับใช้กฎหมายได้ธรรมดา ๆ แต่ต้องบังคับใช้ได้อย่างทันท่วงทีและไม่ช้าเหมือนที่ผ่านมา

3.พยายามผลักดันให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าในจุดที่บ้านเมืองอื่นมีกัน เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา เศรษฐกิจ กฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม หรือการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามจะจี้ไปที่จุดที่คิดว่าเป็นจุดสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เรามองว่า "การศึกษา" เป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ

4.สิ่งที่ประชาชนสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำรวจ เป็นปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชนที่อยากเห็นตำรวจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เป็นเพื่อนของประชาชนจริง ๆ เราเข้าใจถึงความยากลำบากที่ตำรวจเจอในระบบงานของเขา ที่อาจจะเรียกว่าอยู่ในระบบเส้นสาย อยู่ในระบบที่ทำอย่างไรให้ตัวเองอยู่ได้ โดยไม่ลำบากจนเกินไป เรื่องนี้รัฐธรรมนูญได้พยายามยื่นมือเข้าไปช่วย ทั้ง ๆ ที่ในอดีตอาจจะบอกไว้ว่าตำรวจเป็นแค่ข้าราชการธรรมดา ๆ แต่เรากำลังจะพูดถึงสถาบันที่เป็นองค์กรสำคัญในกระบวนการยุติธรรมว่าทำอย่างไรจะให้องค์กรเหล่านี้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้

5.การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของหลักประกัน เราได้สร้างกลไกที่จะให้ไปถึงสิ่งที่เราต้องการ ทั้งการปฏิรูปต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องมีแผนที่เรียกว่า 'การทำแผนในเชิงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" หรือกลไกที่จะทำอย่างไรให้ฝ่ายการเมืองต้องคำนึงถึงสิ่งที่บ้านเมืองจะพัฒนาไป ไม่ใช่ว่าใครเข้ามาแล้วอยากจะทำอะไรก็ทำ แต่มีกลไกที่จะกำหนดว่าในช่วงที่ท่านเข้ามารับหน้าที่ จะทำหน้าที่อย่างไร เป้าหมายคืออะไร ซึ่งผมคิดว่าตรงนี้เป็นอีกกลไกหนึ่งที่รัฐธรรมนูญพยายามสร้าง เราเห็นชัดว่าในช่วง 5 ปีแรก ที่ใครจะบอกว่าเป็นการสร้าง "นายกรัฐมนตรีคนนอก" หรืออะไรก็แล้วแต่ เราต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราสั่งสมบทเรียนว่า การเมืองที่ดิบ ๆ ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความผาสุกในสังคมเราได้ เพราะเราอาจจะต้องเรียนรู้ถึงเรื่องของการอยู่ร่วมกันโดยเขาบ้างเราบ้างที่เราเรียกว่า "ความปรองดอง" ว่าจะทำอย่างไร

ดังนั้นกลไกที่จะทำให้เกิดความปรองดองจำเป็นต้องมีที่พึ่ง หรือมีสถาบันที่เป็นที่พึ่ง เราก็พยายามสร้างว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ทุกฝ่ายทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา โดยในช่วง 5 ปีแรกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งท่านต้องมาช่วยให้บ้านเมืองมีขื่อมีแปให้ได้ ตรงนี้คือความพยายามที่จะสร้างหลักประกันให้กับกลไกของบ้านเมือง ซึ่งผมคิดว่าประชาชนน่าจะมีหลักประกันในเรื่องบ้านเมือง ทางสังคมและการเมืองมากขึ้น

*** รัฐธรรมนูญโดดเด่นเรื่องปราบโกง-คัดสรรคนดี เข้ามามากขึ้น จะเป็นมิติใหม่ให้กับทางการเมืองไทยทุกระดับ หรือไม่

ตรงนี้เป็นกลไกที่กรธ.พยายามจะเน้นย้ำ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเนื้อหาแบบเดิม ๆ แม้จะเป็นเรื่องเดิมแต่เราพยายามเอาสิ่งที่เป็นปัญหา อุปสรรค เริ่มตั้งแต่ถ้าจะปราบปัญหาทุจริตเราจะใช้ใคร จะใช้วิธีการอย่างไร ซึ่งไม่เหมือนเดิม ทั้งเรื่องระยะเวลา การแก้ปัญหาในส่วนที่เป็นหัวใจโดยเฉพาะการเมืองในระดับสูง การพยายามสร้างความประสานงานให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาได้เป็นชิ้นเป็นอันส่วนหนึ่งเกิดจากต่างคนต่างทำ ไม่มองปัญหาร่วมกัน และที่สำคัญคือไม่ได้เน้นประสิทธิภาพของกลไกองค์กรตรวจสอบที่มากเพียงพอ กรธ.พยายามเพิ่มว่าต่อไปนี้ท่านที่เป็นกลไกในการตรวจสอบสมควรต้องทำหน้าที่โดยคำนึงถึง "ประสิทธิภาพ" ต่อบ้านเมืองจริง ๆ

*** ถ้านักการเมืองเก่า ๆ เข้ามาอีก สุดท้ายการเมืองไทยก็เข้าสู่วังวนแบบเก่า ๆ

จริงอยู่ที่ว่าบ้านเมืองเราที่ผ่านมาเมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้ง คนก็อาจจะคิดถึงภาพเดิม ๆ ว่าเราจะมีฝ่ายการเมืองพูดแบบภาษาชาวบ้านคือ เสือ สิงห์ กระทิง แรด แล้วบรรยากาศเดิม ๆ จะไม่กลับมาหรือ ผมก็อยากเรียนว่า กรธ.ได้พยายามมองว่าประสบการณ์ที่เรามีอยู่ อาจเป็นเพราะเราเล่นกันอยู่แต่คนเพียงแค่กลุ่มเดียวหรือไม่ และถ้าเราเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามามีโอกาสร่วมในกระบวนการของการตรวจสอบ เรามีหลักประกันให้คนในภาคส่วนอื่นเข้ามาร่วมด้วย เราจะไปเน้นเรื่องอำนาจทุบโต๊ะอย่างเดียวคงไม่ได้ ท่านอาจจะต้องมีบทบาทสร้างสรรค์ปัจจัยช่วยให้ชีวิตของท่านดีขึ้น ไม่ใช่ไปคอยเรียกร้องให้คนนั้นคนนี้เข้ามาทำให้ ต่อไปนี้พวกท่านจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมทำให้เกิดบรรยากาศของสังคมที่ช่วยกันคิดดี ไม่ใช่สังคมของการเรียกร้องให้คนนั้นทำ โดยท่านจะขอเป็นผู้รับบริการเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่พยายามที่จะเปิดให้มีบรรยากาศใหม่ ๆ แบบนี้

ผมเชื่อว่ารัฐบาลคงคิดว่า ในช่วงระยะการเปลี่ยนผ่านนี้ เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนเป็นตัวกลางที่สำคัญ ในการคิดสิ่งที่สร้างสรรค์ ระดมความคิดของคนที่อยากเห็นบ้านเมืองไปข้างหน้า บ้านเมืองของเราผ่านมรสุมมาเยอะแยะแทนที่เราจะมองเฉพาะมุมลบ วันนี้เราควรมาช่วยกันสร้างมาช่วยกันปลูกดอกไม้ ให้สร้างสรรค์ให้บ้านเมืองของเรา คนไทยทุกคนควรช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งตรงนี้จะเป็นมิติของรัฐธรรมนูญใหม่.

" กลไกที่จะทำให้เกิดความปรองดองจำเป็นต้องมีสถาบันที่เป็นที่พึ่ง เราพยายามสร้างว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นส.ส.-ส.ว. โดยในช่วง 5 ปีแรกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งต้องช่วยให้บ้านเมืองมีขื่อมีแปให้ได้ "

-- สำนักข่าว เดลินิวส์ วันที่ 7 เมษายน 2560 --